ความคาดหวังของฉันหรือของใคร ?

ถูกใจให้แชร์ :

ไหนๆ ก็เหลือเวลาอีก 1 ปีสำหรับการเรียนในมหาวิทยาลัย ก็เลยอยากมาเล่าประสบการณ์ในชีวิตก่อนที่จะได้เรียนในมหาวิทยาลัยให้อ่านกัน อยากให้เป็นข้อคิดหรือเป็นประสบการณ์กับน้องๆ ที่กำลังจะเรียนต่อด้วยนะครับ
ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงจะโดนใครสักคน คาดหวัง ที่จะให้ทำอะไรบางอย่าง เช่น หวังว่าเธอจะเป็นหมอ หวังว่าเธอจะเป็นผู้ชายไม่ใช่เกย์หรือตุ๊ด(อาจจะมีต่อด้วยว่า “เหมือนลูกข้างๆ บ้าน”) หรือหวังว่าฉันจะได้แฟนหน้าตาดีกว่าณเดชน์ คนเรามันมีเรื่องคาดหวังกันเยอะแยะครับ ซึ่งอาจจะเกิดจากการคาดหวังด้วยตัวเอง ด้วยผู้อื่นหรือจะด้วยใครก็ตาม ผมว่าการคาดหวังให้ใครสักคนเป็นแบบนั้น ทำอย่างนี้ มันก็เหมือน การบังคับ กันทางอ้อมนะครับ เข้าใจว่าการคาดหวังนั้นมันเกิดมาจากคำพูดของเรา แต่อนาคตมันก็ไม่ใช่เรื่องแน่นอน ถูกต้องไหมครับ ? ลองยกตัวอย่างตัวผม… 

ตอนเด็กบอกพ่อแม่ว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นหมอ” ตอนนั้นเค้าก็เห็นว่าเราเรียนได้คะแนนดีมาก  ตอนประถม เค้าเลย คาดหวัง ละว่าไอ้เด็กคนนี้โตมาต้องเป็นหมอแน่ๆ แต่พอนานๆ เข้า ผมก็เกรดไม่ดีเพราะวิชาเลข พ่อแม่ก็เลขพยายามให้เก่งเลข ไอ้จุดนี้แหละ ที่มันทำให้ความคาดหวัง แปรเปลี่ยนเป็น การบังคับกันทางอ้อม ซึ่งพอผมเข้ามัธยมต้นมา ผมปฏิเสธพ่อแม่เลยว่าไม่ขอเรียนพิเศษที่ให้เรียนนะ แต่วิชาไหนไม่ได้เดี๋ยวไปเรียนเอง ซึ่งยอมรับว่าพอไปเรียนก็ไม่ได้ตั้งใจอะครับ ไปชวนเพื่อนคุยมากกว่า (ฮา) หลังๆ เข้าไปคุยกับพ่อแม่ให้เข้าใจว่า เนี่ย ไอ้เรื่องคำนวณอะไม่เก่งจริงๆ นะครับ ขอเรียนสาขาอื่นละกัน แม่เนี่ยพอจะเข้าใจนะครับ แต่พ่อกลับทำหน้าเหวี่ยงๆ ใส่ผมตอนนั้น แล้วตอนม.6 เป็นเด็ก GAT-PAT รุ่นแรก มีแต่อะไรก็ไม่รู้วุ่นวายมาก ช่วงนั้นจะโดนพี่ชายล้อทุกวันว่า “ไปเรียนทำไมมหาลัยพวกนั้น เปลืองตัง” บ้างละ บางวันเจอคำว่า “สอบไม่ติดหร๊อก เดี๋ยวก็ต้องมาเรียนราชภัฎเหมือนข้า” วันนั้นพอผลโควต้ามน.ออกปั๊บ ผมปริ้นแล้วแปะหน้าห้องมันเลย (ฮา) ตั้งแต่นั้นมาเค้าก็ไม่กล้าเถียงอะไรอีก แต่ฝั่งพ่อนี่สิครับ ที่เกิดความคาดหวัง(หรือเปล่า) ไว้ในตัวผมว่าต้องเรียนสาขาดีๆ พอบอกว่าติดวิทย์คอมม.นเรศวรนะพ่อ สิ่งที่ได้มากลับมาคือ “ว้า นี่ถ้าติดแพทย์ ติดหมอนี่พ่อปิดหมู่บ้านเลี้ยงเลยนะ้เนี่ย” ยอมรับว่าตอนนั้นคือเซ็งมาก เด็กไม่เก่งเลข วันๆ อยู่แต่งาน (ม.ปลายผมจะขลุกอยู่กับงานมาก ไม่ค่อยอ่านหนังสือเลย แล้วก็จะโดนพ่อแม่ด่าทุกๆ เย็นว่ากลับบ้านมาทำไมไม่อ่านหนังสือ) คือสอบได้ขนาดนี้ก็ถือว่าโอมากแล้วนะชีวิตผม แต่ก็นั่นแหละครับ ผมก็เลยโชว์ประสิทธิภาพให้เค้าเห็นว่า เรียนวิทย์คอมมันแย่ตรงไหน ไปออกงานโน้น แข่งงานนี้ ชนะงานนั้นจะโทรบอกพ่อก่อนเสมอ เค้าจะรู้ว่ามันเป็นยังไง จนปัจจุบัน พ่อผมก็ไม่เคยมายุ่งย่ามอะไรกับผมเลย แต่ก่อนช่วงกลับบ้านมาใหม่ๆ นี่โดนว่าทุกวันว่า “ทำไมนอนดึก ตื่นก็สาย จะทำมาแ-กอะไรกับเค้าทัน” แรกๆ ก็อธิบายให้เค้าเข้าใจว่า โปรแกรมเมอร์มันต้องทำงานดึกๆ บลาๆๆๆ (ข้ออ้าง ฮ่าๆ) แต่พอหลังๆ พ่อกับแม่เค้ารู้ว่าเรามีนิสัยแบบนี้ มันต้องทำงานแบบนี้ เค้าก็ไม่ว่าผมอีก

เห็นมั้ยครับ ชีวิตผมมันก็มีความคาดหวังจากพ่อแม่เหมือนกัน แต่เราจะให้ไอ้ความคาดหวังนั้นมันเป็นยังไง มันก็ขึ้นกับตัวเรานั่นแหละ เราจะเป็นอะไร จะทำอะไร มันก็เป็นชีวิตของเรา แต่ผมไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำอะไรตามใจชอบโดยไม่เห็นหัวใครเลยก็ไม่ได้นะ ทำอะไรก็บอกพ่อแม่หรือคนรอบข้างที่เค้าคาดหวังให้ดีๆ ถ้าเค้าสงสัยหรือไม่เข้าใจก็อธิบายให้เข้าใจซะ หรือไม่ก็ทำให้เค้าเห็นเลยว่า ทำแล้วมันก็ไม่ได้มีผลเสียอะไร แค่นั้นเค้าก็จะเข้าใจแล้วละครับ


มาดูอีกเคสนึง อันนี้เป็นเรื่องสมมตินะครับ 

พ่อเป็นมีคนมีหน้ามีตาในสังคมมาก ทำอะไรต้องขอเป็นหน้าเป็นตาไว้ก่อน วันนึงอยากจะจัดงานบวชให้ลูกชาย คาดหวังไว้ตั้งแต่แรกละว่าอยากจะจัดงานบวชให้มันอลังการ เชิญผู้ว่า เชิญใครต่อใครมา ฝั่งแม่กับลูกชายต้องการจัดเรียบง่ายแค่วันเดียว เช้าก็เข้าโบสถ์เลย จะได้ประหยัดดี โดยปรึกษากันสองคน วันนึงครอบครัวนี้ก็ปรึกษากับเรียบร้อยละว่าจะจัดแบบวันเดียววนะ คนเป็นพ่อดันสร้างความคาดหวังไว้ตั้งแต่แรกซะนี่ โวยวายบ้านแตกหาว่าแม่ลูกไปคุยกันเองมั่ง ทำอะไรไม่ปรึกษากัน แล้วชั้นจะเอาหน้าไปไว้ไหน บลาๆๆๆ กลายเป็นว่า จะบวชทั้งทีมีปัญหาเพราะพ่อแค่คาดหวังว่า งานบวชลูกชายฉันต้องได้ชื่อเสียง

เห็นมั้ยครับ ผลของความคาดหวังบางทีมันน่ากลัวมากเลยนะ ผมว่ามนุษย์เราในยุคสมัยนี้ การจะมาคาดหวังว่าเช่น โตขึ้นลูกชั้นจะต้องเป็นนางสาวไทย จะเลี้ยงเค้าให้ดียิ่งกว่าใครๆ เลย โตขึ้นมาจริงๆ เค้าอาจจะมีทางเลือกของเค้าเองก็ได้นะครับ เค้าอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร มันเป็นสิทธิในการใช้ชีวิตของเค้า อย่าไปคาดหวังไว้สูงมากจนจะแตะคำว่าบังคับกัน เดี๋ยวพอมันไม่เป็นจริงขึ้นมา จะตกลงมาหลังหักแล้วมาโวยวายเพราะมันไม่เป็นไปดั่งใจคิดไม่ได้ เพราะชีวิตของใครก็ของมันนะครับ ?