เพราะเหมืองแม่เมาะไม่ใช่แพะทางสังคม

ถูกใจให้แชร์ :

เมื่อหลายอาทิตย์ก่อน ผมได้ไปออกรับงานของเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง กับอาจารย์ที่ภาควิชามา เค้าต้องการให้ทำระบบการจัดการเหมืองด้วยมือถือให้ (ความลับๆ เรื่องนี้บอกไม่ได้) ถ้าเอาจริงๆ ครั้งนี้ถือว่าเป็นการไปแม่เมาะครั้งแรกของผมเลยก็ว่าได้นะ

เรื่องของเรื่องคือที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีเหมืองถ่านหินลิกไนท์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่มีชื่อว่า เหมืองแม่เมาะ ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อว่า เหมือง เมื่อไหร่ หลายคนคงจะนึกถึงอากาศไม่บริสุทธิ์ แถมเห็นฝุ่นดำๆ คลุ้งให้เต็มไปหมด รถบรรทุกก็วิ่งกันให้วุ่นวาย


หลายๆ คนคงเคยเห็นโฆษณาชวนฝันของแม่เมาะที่ชักชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่แม่เมาะกัน แถมบอกว่าอากาศที่นี่ดีและบริสุทธิ์แล้ว บล็อกในเอนทรีก็เลยอยากมาเล่าให้ฟังว่าหลังจากที่ไปมาแล้วนั้น อากาศที่แม่เมาะบริสุทธิ์มากครับ ถ้าให้เทียบนี่ดีกว่าจังหวัดที่ผมเรียนหรือดีกว่าเมืองหลวงซะอีก แถมมีต้นไม้มากมายเต็มไปหมด

ได้มีโอกาสคุยกับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีของที่นั่นเกี่ยวกับเรื่องสภาพบรรยากาศและรอบๆ เหมืองแม่เมาะ พี่เขาบอกว่าจริงๆ แล้วเหมืองแม่เมาะจะแบ่งการทำงานออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายนึงดูแลเรื่องการขุดโดยเฉพาะ เมื่อได้ลิกไนท์ก็เอาไปให้กับฝ่ายที่สองที่ดูแลเรื่องการนำลิกไนท์ไปแปรรูปเข้าโรงงานผลิตไฟฟ้า ฉะนั้น ถ้าเรามองดูดีๆ จะเห็นว่ากระบวนการการแปรรูปลิกไนท์ จะเกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมมากๆ แต่พี่เขาบอกว่าตอนนี้ทั้งส่วนของการขุดเจาะและโรงไฟฟ้านั้น มลพิษแทบจะเป็น 0 แล้ว ไม่ต้องห่วงว่าขุดเจาะแล้วฝุ่นจะคลุ้งกระจายเพราะในเหมืองมีการฉีดน้ำอยู่สม่ำเสมอ ส่วนโรงไฟฟ้าก่อนจะปล่อยควันออกมาและปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ ก็มีการคัดกรองอย่างดี

อีกอย่างที่ผมทราบมาจากพี่ๆ เจ้าหน้าที่คือ เวลามีข่าวว่าเกิดฝุ่นควันมากมายในแถบภาคเหนือตอนบน สำนักข่าวเหล่านี้จะอ้างว่ามาจากเหมืองแม่เมาะที่ขุดเจาะจนเกิดฝุ่นควันแทบจะทุกครั้ง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ปัจจัยการเกิดฝุ่นควันนั้นมีมากมาย หลักส่วนใหญ่จะเกิดจากไฟไหม้ในแถบประเทศพม่าแล้วลมก็พัดลงมาปกคลุมในเขตภาคเหนือของประเทศเรา สิ่งที่เหมืองแม่เมาะทำได้คือการแก้ข่าวโดยไม่มีหลักฐานยืนยันเพราะภายในเขตเหมืองนั้นอันตรายอยู่มาก แถมนักข่าวก็คงไม่มีใครกล้าลงไปแน่นอน แต่ในอนาคตเหมืองแม่เมาะจะเปิดเผยข้อมูลทางด้านมลพิษที่อาศัยเครื่องมือต่างๆ ภายในเหมืองรวบรวมแล้วทำเป็นข้อมูลเชิงสารสนเทศเพื่อให้ประชาชนทั่วไป สามารถรับรู้ปริมาณของมลพิษในแต่ละวันได้

ผมถามพี่เจ้าหน้าที่คนนึงว่า “แล้วในเมื่อเรื่องมันเป็นแบบนี้ ทำไมชาวบ้านละแวกเหมืองเขาถึงไม่ยอมย้ายออกไป เกิดวันใดเกิดซัฟเฟอร์(แก๊สพิษชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเผาไหม้)แล้วพัดไปบ้านเค้า ก็ไม่ซวยหรอครับ” คำตอบคือ การย้ายประชากรในพื้นที่แต่ละครั้ง มีผลเสียต่อรัฐบาลอยู่หน่อยๆ สมมติจะย้ายบ้านๆ นึงไปที่อื่น ทางการต้องคำนวณค่าความเสียหายทั้งหมดภายในเขตบ้าน ไม่ว่าจะตัวบ้าน ทรัพย์สินรวมไปถึงต้นกะเพราหน้าบ้านก็ต้องตีค่าเป็นเงินออกมา ทำให้มันเกิดความยุ่งยาก อีกอย่างชาวบ้านพวกนี้เค้าก็มาอยู่นานแล้ว เหมืองเองที่เข้าไปจัดการระบบอยู่อาศัย เขาสามารถย้ายประชากรในเขตเหมืองได้ แต่เขตละแวกนอกเขาไม่มีสิทธิ

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าแม่เมาะจะถูกคนอื่นมองในสายตายังไง แต่ถ้าคุณยังไม่เคยได้มาลองสัมผัสที่นี่ คุณก็จะไม่รู้เลยว่าที่นี่อากาศดีมากๆ แถมมีที่ท่องเที่ยวมากมายเลยนะครับภายในเหมือง มีทั้งพิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนท์ศึกษา ที่เก็บถ่านลิกไนท์และบอกถึงการขุดเจาะว่าเป็นยังไง (ที่นี่จะปิดทุกวันจันทร์นะครับ) รวมไปถึงทุ่งบัวตองที่เป็นจุดชมวิวที่สูงที่สุดในเหมือง มองเห็นได้รอบเหมือง ยังไงก็ตามหากการขุดเจาสิ้นสุดลง (ซึ่งอีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้) กฟผ.ผู้รับผิดชอบในเขตเหมืองนี้ก็จะทำการบูรณะให้มันกลับมาเป็นสถานที่ที่ช่วยฟอกมลพิษเหมือนเดิมอย่างแน่นอน

ปล. : มีคนบอกว่าเหมืองแม่เมาะมีบุญคุณต่อประเทศเพราะผลิตไฟฟ้านี่ พูดแล้วมันแหม่งๆ เลยไม่พูดเลยดีกว่า :X